ความเป็นมาของไทยปาร์ค
จุดเริ่มต้นของไทยปาร์ค
เรื่องราวของไทยปาร์ค เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 1992 เมื่อครอบครัวชาวไทย-เยอรมันกลุ่มเล็กๆ เพียงสี่ครอบครัว มาปิคนิคด้วยกันที่สวนพรอยเซนพาร์ค (Preußenpark) จากนั้นในกลุ่มหญิงไทยก็เริ่มชักชวนกันมาแบบปากต่อปาก ตลอดจนถึงหญิงชาวลาว ชาวกัมพูชา และชาวฟิลิปปินส์ จนทำให้ทุกคนมาปิคนิคที่สวนแห่งนี้เป็นประจำ และค่อยๆ พัฒนาเป็นชุมชนกลายๆ แห่งหนึ่ง ที่ทุกคนจะทำอาหารจานเด็ดของตนมาจากบ้านเพื่อแบ่งปันกันลิ้มลอง
กิจกรรมที่ทุกคนโปรดปรานก็คือ การกินและเล่นพนัน เป็นกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนใช้เวลาอยู่ในสวนได้ตลอดทั้งวัน เมื่อวงพนันยังไม่จบ แต่อาหารหมดเสียก่อน ก็เริ่มถามคนรอบตัวว่ามีใครมีอาหารแบ่งขายให้บ้าง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งแผงขายอาหาร หลังจากนั้นไม่กี่ปี แผงขายอาหารก็เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งชาวเยอรมัน และชาวต่างชาติ จนเกิดเป็น “ไทยปาร์ค” ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้
ที่มา: อิทธิฤทธิ์ หทัยรัตน์, “The Architectural Ethnography of Thai-Park: Beyond Food and Color” วิทยานิพนธ์ สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Universität der Künste Berlin
โลโก้ไทยปาร์ค
ตราสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วม
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2021 โลโก้ของคุณสมชาย นิลแก้ว ชนะการประกวดโลโก้
ด้วยคะแนนโหวต 534 คะแนน จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 96 แบบ
ผู้ชนะได้รับเงินรางวัล 100 ยูโร
และใบประกาศนียบัตรจากสมาคมฯ
ตัวอักษร T เกี่ยวตวัดเชื่อมสายสัมพันธ์ธงชาติไทยลายกนก โดยลายเส้นคลี่คลายมาจากตัวอักษร
T: Thai และ P: Park มีรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามเอกลักษณ์โดดเด่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมไทยที่มีความสง่าสวยงามเป็นสิริมงคล
ธงชาติเยอรมันและมหาวิหารเบอร์ลิน อัตลักษณ์ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี การจัดองค์ประกอบในภาพได้เชื่อมโยงอย่างมีเอกภาพ สื่อถึงความรัก ความสามัคคีของคนไทยในเยอรมนี
ลายเส้นเคลื่อนไหว สื่อถึงการให้บริการข่าวสารที่น่าสนใจทั้งของไทยและเยอรมนี
สีเขียว สื่อถึงธรรมชาติ ความสมบูรณ์ ความอบอุ่น ความร่มเย็นเป็นสุข